โครงสร้างภายในกรม

โครงสร้างภายในกรม



               กรมการกงสุลเป็นหน่วยงานภารกิจซึ่งรับผิดชอบในเรื่องที่มีนัยเกี่ยวกับ "การกงสุล" ซึ่งประกอบด้วย การออกหนังสือเดินทาง การออกเอกสารเดินทาง การคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ของชาวไทยในต่างประเทศ และการดำเนินการในเรื่องสัญชาติและนิติกรณ์ ซึ่งมีปริมาณงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และการตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศของชาวไทยเป็นเรื่องปกติวิสัย ดังนั้น ในทางปฏิบัติกรมการกงสุลเป็นหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศที่รับรองงานด้านบริการประชาชนโดยประสานกับหน่วยงานด้านการปกครองและทะเบียนราษฎร์ทั้งในและนอกประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนั้น ยังดำเนินการพัฒนาให้หนังสือเดินทาง เอกสารเดินทางของประเทศไทยและเอกสารการตรวจลงตราของประเทศไทยมีความทันสมัยและทัดเทียมกับมาตรฐานสากลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือในประชาคมระหว่างประเทศ

ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2541 กรมการกงสุลมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  • เสนอความเห็นเพื่อกำหนดนโยบายและแผนด้านการกงสุล รวมทั้งกำหนดระเบียบด้านการกงสุล
  • ประสาน สนับสนุน และกำกับดูแลสถานกงสุลใหญ่ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยในต่างประเทศ ตลอดจนประสานงานและให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการของไทยทั้งในและต่างประเทศในการดำเนินงานเกี่ยวกับการกงสุลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการกงสุล พ.ศ. 2506 สนธิสัญญาความตกลงระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับงานด้านการกงสุล
  • ดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือเดินทางและเอกสารการเดินทางให้แก่คนสัญชาติไทย
  • ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจลงตราและเอกสารการเดินทางสำหรับคนต่างด้าว
  • ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลรักษาผลประโยชน์และช่วยเหลือคนสัญชาติไทย และนิติบุคคลสัญชาติไทย รวมทั้งเรือและอากาศยานไทยในต่างประเทศ
  • ดำเนินการเกี่ยวกับงานสัญชาติ งานนิติกรณ์ งานทะเบียนคนไทยในต่างประเทศ และเรื่องอื่น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ตลอดจนการดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศในกระบวนการยุติธรรม
  • กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าทำการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในงานที่เกี่ยวกับการกงสุล ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและประกาศของกระทรวงการต่างประเทศ
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงฯ หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
กรมการกงสุลแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 หน่วยงาน ดังนี้
  1. สำนักงานเลขานุการกรม
  2. กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
  3. กองสัญชาติและนิติกรณ์
  4. กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว 
  5. กองหนังสือเดินทาง  
  6. ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร  

     การบังคับบัญชา จะเป็นรูปแบบเดียวกับกรมทั่วไป กล่าวคือ อธิบดีกรมการกงสุล จะรับนโยบายสั่งการ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของกรมการกงสุล โดยมีปลัดกระทรวงฯ หรือรองปลัดกระทรวงฯ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในส่วนของการติดต่อ ประสานงาน ระหว่างกรมการกงสุลกับสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ อธิบดีกรมการกงสุล จะเป็นผู้วินิจฉัย สั่งการไปยัง สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ ในนามของปลัดกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ จะรายงานกลับมายังปลัดกระทรวงฯ โดยกรมการกงสุลเป็นกรมที่รับผิดชอบปฏิบัติ ในส่วนของงานด้านกงสุลทั้งหมด